https://www.facebook.com/pmatHRsociety https://twitter.com/pmathrsociety https://www.youtube.com/user/PMATVideos http://line.me/ti/p/@pmat
จากขยะเดลิเวอรี่สู่การเดลิเวอรี่ขยะกลับบ้าน
กลับš

 


จากขยะเดลิเวอรี่สู่การเดลิเวอรี่ขยะกลับบ้าน


เชื่อได้ว่าการสั่งอาหารจากแอพพลิเคชั่นส่งอาหารอย่าง LINE MAN, Grab Food, Get, Food Panda หรือการโทรไปสั่งอาหารตามสั่งร้านป้า แล้วให้พี่วินมอเตอร์ไซค์ไปรับ แล้วมาส่งเป็นมื้อกลางวันหรือมื้อเย็นที่ทำงานอาจกลายเป็น New Normal ของหนุ่มสาวชาวออฟฟิศบางคนมาสักพักใหญ่แล้ว ทว่าในช่วงสถานการณ์ COVID–19 หลายแอพพลิเคชั่นเน้นการทำโปรโมชั่นกระตุ้นยอดสั่งส่งกันอย่างคึกคักทั้งลดค่าอาหาร ลดค่าส่ง ซื้อ 1 แถม 1 ไปจนถึงไม่คิดค่าส่ง แม้กระทั่งร้านอาหารชื่อดังที่มีแอพพลิเคชั่นหรือช่องทางสำหรับสั่งและส่งอาหารของตนเองที่ไม่ได้ผ่าน Food Delivery App ก็ยังจัดโปรโมชั่นส่งฟรี ลด แลก แจก แถมกันอยู่พักใหญ่ ๆ จนกระทั่งสถานการณ์เริ่มคลี่คลายบ้างแล้วโปรโมชั่นเหล่านั้นก็ยังมีให้เห็นอยู่และมีทีท่าว่าจะอยู่ไปอีกสักพัก

แน่นอนว่าโปรโมชั่นเร้าใจเหล่านั้น จูงใจให้เราอยากลองอาหารจากร้านที่ไม่เคยลอง สั่งเมนูใหม่ที่ไม่เคยชิมให้มาส่งถึงบ้านตอน Work from Home หรือให้มาอร่อยกันที่ออฟฟิศทันทีที่ Back to Office (ซึ่งช่วงหลังจากคลายล็อกดาวน์ Grab Food ก็มีโปรโมชั่น Back to Office Sale 50% อยู่จริง ๆ ด้วย) และมีใครจำได้บ้างว่าทุกครั้งที่มีอาหารมาส่งที่ออฟฟิศจะมาพร้อมกับขยะครั้งละกี่ชิ้น?

ส่วนใหญ่ขยะที่เดลิเวอรี่มาให้เราพร้อมกับอาหารมักจะเป็นขยะกลุ่มที่ถูกเรียกว่า “ขยะกำพร้า” ขยะกำพร้าหรือขยะพลาสติกกำพร้าเป็นขยะประเภทที่ถูกทิ้งลงในถังขยะมากที่สุด มักจะถูกพรากจากพี่น้องขยะขวดพลาสติก (โดยเฉพาะขวดเพท (PET)) ขวดแก้ว หรือกระป๋องอลูมิเนียม ซึ่งสามารถกลับไปหาพ่อแม่หรือร้านรับซื้อของเก่าได้ง่ายกว่า หรือเรียกได้ว่ามีรางวัลในการพากลับบ้าน ดังนั้นขยะกำพร้าจำพวกถุงพลาสติก แก้ว/กล่อง/ช้อนส้อม/หลอดพลาสติกจึงถูกทิ้งให้กำพร้าอยู่ในถังขยะออฟฟิศเราทุกวัน ๆ ละหลายสิบหลายร้อยชิ้น เมื่อสุนัขและแมวจรหลงมาที่ออฟฟิศ ก็จะมี รปภ. แม่บ้าน หรือไม่ก็ใครสักคนในออฟฟิศมักคอยให้ข้าวให้น้ำ ดูแล หรือหาบ้านให้กับน้อง ๆ เหล่านั้นใช่ไหมคะ ทีนี้พออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว มีใครสนใจจะหาบ้านให้ขยะกำพร้ากันบ้างไหม ถ้ามี บทความนี้อาจเป็นประโยชน์กับคุณแน่นอนค่ะ

ขยะกำพร้าหาบ้าน

ในปัจจุบันมีหลายบริษัทหลายโครงการที่ทำธุรกิจเพื่อสังคมเปิดรับขยะกำพร้าจากทั่วประเทศ (หรืออาจทั่วโลก ถ้าเขาส่งมาให้) โดยผู้ส่งต้องคัดแยกขยะกำพร้าตามประเภท ล้างทำความสะอาด แล้วนำส่งไปยังสถานที่ที่เป็นจุดรับขยะกำพร้าเหล่านั้น จะขอแนะนำสถานที่รับขยะกำพร้าที่สะดวกสำหรับออฟฟิศที่ต้องการบริหารจัดการขยะให้ถูกนำมาใช้ประโยชน์หรือผลิตใหม่ซึ่งเป็นทางเลือกที่มากกว่าการนำไปเผาหรือฝังกลบ

โครงการ “วน”

โครงการ "วน" (Won) เกิดจากแนวคิดของผู้บริหาร บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) ที่ต้องการให้พลาสติกถูกนำมาเวียนใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดผ่านกระบวนการรีไซเคิล เพื่อให้พลาสติกหมุนเวียนอยู่ในระบบ (Circular Economy) ได้มากที่สุด ลดปริมาณขยะพลาสติกออกไปสู่สิ่งแวดล้อม

ขยะที่โครงการวนรับไปรีไซเคิลจะเป็นพลาสติกทุกชนิดที่ยืดได้ เช่น ถุงหูหิ้ว ฟิล์มหุ้มสินค้าต่าง ๆ ซองไปรษณีย์ พลาสติกกันกระแทก ถุงซิปล็อค ถุงขนมปัง ห่อผ้าอนามัย ถุงน้ำแข็ง ถุงน้ำตาลทราย ถุงแกง เรียกว่าอะไรก็ได้ที่เป็นพลาสติก ลองยืดดูแล้วยืดได้ โครงการรับทั้งหมด แต่มีข้อแม้ว่าขยะพลาสติกนั้นต้องสะอาดและแห้ง และแกะสติกเกอร์กระดาษหรือส่วนที่ไม่ใช่พลาสติกซึ่งมีติดอยู่ออกให้หมด

เมื่อได้ปริมาณจำนวนหนึ่งแล้วบีบอัดให้แน่นส่งไปรษณีย์แบบใดก็ได้ไปที่ “โครงการ วน” บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) 42/174 ม.5 ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม 73210 หรือนำไปไว้ที่จุดรับของโครงการวนที่มีมากกว่า 300 จุดกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ระยอง และชลบุรี และสำนักงานเขตต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร (จุดรับของโครงการวนในสำนักงานเขตของ กทม. เป็นความร่วมมือระหว่างโครงการวนและเขตกรุงเทพมหานครและสำนักสิ่งแวดล้อม)

ขณะนี้โครงการวนพัฒนาเป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐและเอกชนกว่า 30 องค์กรในชื่อ “โครงการมือวิเศษ x วน” ตั้งจุดรับขยะพลาสติกยืดได้ในปั๊มน้ำมันบางจาก 97 แห่ง ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล 16 แห่งTesco Lotus 10 แห่ง และห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ 5 แห่ง สำหรับผู้ที่สนใจหาจุดรับชองโครงการวนใกล้บ้านลองเข้าไปหาดูที่นี่ค่ะ => shorturl.at/dfhEL

พลาสติกยืดได้ที่ถูกส่งไปที่โครงวนจะถูกนำไปผลิตใหม่เป็นผลิตภัณฑ์อื่นแล้วนำกลับมาจำหน่ายใหม่ ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านมาซึ่งโครงการได้ผลิตออกมาแล้วก็เช่น ถุงขยะ ถังขยะ อีกทั้งถุงและฟิล์มพลาสติกที่ส่งเข้ามารีไซเคิลกับโครงการจำนวน 1 ก.ก. จะกลายเป็นเงิน 5 บาทบริจาคให้แก่มูลนิธิด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ



ประเภทพลาสติก วิธีการจัดเก็บ และส่งขยะรีไซเคิลไปที่โครงการวน

บจก. N15 เทคโนโลยี

ถ้าการยืด แยก ตัด ล้าง เก็บ ส่งไปที่โครงการวน ยังยุ่งยากเกินไปสำหรับออฟฟิศคุณ สนใจนำขยะกำพร้าไปเป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหินในเตาผลิตปูนซีเมนต์ดูไหมคะ?

บจก. N15 เทคโนโลยี รับบริจาคขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ เรียกได้ว่ากำพร้าแท้ ๆ นำมาบดสับและเปลี่ยนไปเป็นพลังงานเชื้อเพลิงทดแทนการใช้ถ่านหินส่งให้กับโรงงานปูนซีเมนต์ในจังหวัดสระบุรี

หลักการของการนำขยะกำพร้าที่ไม่มีที่ไปไปทำเชื้อเพลิงทดแทนก็ง่ายมาก คือขยะใด ๆ ก็ตามที่สามารถตัดให้ขาดและเผาติดไฟได้ ก็สามารถนำไปทำเป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหินเพื่อเผาในเตาเผาปูนซีเมนต์ได้แล้ว เช่น ถุงพลาสติกต่าง ๆ กระดาษต่าง ๆ (ยกเว้นกระดาษเช็ดเลือดและสิ่งปฏิกูล หรือขยะติดเชื้อ) ฟอยด์ ขวดต่าง ๆ ซองขนม ซองอาหาร หลอดผลิตภัณฑ์ ผ้า แก้วกระดาษ แก้วพลาสติก กล่องโฟม ถุงปุ๋ย รองเท้า ลูกบอล ปากกา CD ซองกันชื้น ฯลฯ

บจก. N15 เทคโนโลยีรับขยะครอบคลุมแทบจะหมดทุกอย่างที่เราใช้ในชีวิตประขำวันแต่ไม่สามารถส่งไปรีไซเคิลที่ไหนได้แล้ว ยกเว้นพลาสติกประเภท PVC เช่น สายไฟ, ท่อประปา, สายยาง, หนังเทียม, สติ๊กเกอร์บางประเภท ขวดแก้ว กระเบื้อง เศษเหล็ก ลวด ขยะติดเชื้อต่างๆ กระเบื้อง แก้ว หิน ไม้ สังกะสี หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย อุปกรณ์อิเลคโทรนิก หรือนึกภาพถึงพวกของที่ติดไฟแล้วมันจะอันตรายหรือบดสับได้ยากเข้าไว้ค่ะ

ที่สำคัญที่สุดคือขยะที่จะส่งไปที่นี่ไม่ต้องล้าง ไม่ต้องแยก เพียงแค่เอาของเหลวออกให้มากที่สุดแล้วตากแดด ก็เก็บรวบรวมส่งมาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนได้ทันที

ง่าย ๆ แบบนี้ ออฟฟิศใครพร้อมแล้ว จัดขยะลงกล่องแล้วส่งไปได้ที่ บจก. N15 เทคโนโลยี (คุณสมบูรณ์ กิตติอนงค์ 0863342612) 700/754 ม.1 ต.พานทอง อ.พานทอง จ.ชลบุรี 20160 ได้แล้วค่ะ

Yolo Zero Waste

หลังจากที่เกิดสถานการณ์ระบาดของโรค COVID-19 ขึ้น ส่งผลกระทบให้โยโล (Yolo Zero Waste) ต้องหยุดรับพลาสติกกำพร้ามาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลชั่วคราว แต่ด้วยความที่รูปแบบการรับขยะของโยโลมีรายละเอียดการแยกขยะประเภทต่าง ๆ ที่น่าสนใจให้เราได้พัฒนาทักษะการแยกขยะ จึงอยากจะเอามาลงไว้ในที่นี่ด้วย

Yolo Zero Waste เป็นผู้ประกอบการซึ่งเปิดรับขยะกำพร้าที่ถูกคัดแยกแล้วไปผลิตเป็นของใช้ ของที่ระลึก สินค้าพรีเมียมต่าง ๆ ที่เกิดใหม่จากขยะ โยโลจะรับขยะที่คัดแยกประเภทแล้ว ล้างให้สะอาด และลอกสติกเกอร์ออกแล้ว โดยจะรับขยะพลาสติกกำพร้าทั้งหมด 6 ประเภท คือ PET, HDPE, LDPE, PP, PS และ Other

ประเภท 1 PET ขวดเพทที่เรารู้จักกันดีคือชวดน้ำดื่มพลาสติกที่ใช้กันอยู่ทั่วไป แต่โยโลไม่รับเพทประเภทนี้ จะรับแก้วกาแฟ บรรจุภัณฑ์อาหารแบบบางใส ชวดน้ำอัดลม ขวดน้ำหวาน ขวดซิอิ๊ว หรือบรรจุภัณฑ์ที่มีเลข 1 บนสัญลักษณ์รีไซเคิล

ประเภท 2 HDPE ขวดนม ฝาขวด ชวดแชมพู สบู่เหลว ขวดเครื่องสำอาง ขวดบรรจุน้ำยาต่าง ๆ หรือบรรจุภัณฑ์ที่มีเลข 2 บนสัญลักษณ์รีไซเคิล

ประเภท 4 LDPE หลอดโฟมล้างหน้า หลอดครีม หลอดนมข้นหวานแบบบีบ บรรจุภัณฑ์ประเภทรีฟิลบางประเภท และปลอดน้ำตาเทียม หรือบรรจุภัณฑ์ที่มีเลข 4 บนสัญลักษณ์รีไซเคิล

ประเภท 5 PP แก้วเครื่องดื่มและบรรจุภัณฑ์อาหารแช่แข็งต่าง ๆ ที่เข้าไมโครเวฟได้ รวมทั้งบรรจุภัณฑ์เครื่องสำอางบางประเภท และช้อนส้อมพลาสติกแบบนิ่ม หรือบรรจุภัณฑ์ที่มีเลข 5 บนสัญลักษณ์รีไซเคิล

ประเภท 6 PS บรรจุภัณฑ์และแก้วต่าง ๆ ที่บางใสและกรอบแตกง่าย รวมทั้งช้อนส้อม มีดพลาสติกที่แข็ง ๆ หรือบรรจุภัณฑ์ที่มีเลข 6 บนสัญลักษณ์รีไซเคิล

ประเภท 7 Other พลาสติกทั่วไปที่มีเลข 7 บนสัญลักษณ์รีไซเคิล หรือไม่มีสัญลักษณ์ใดเลย พลาสติกประเภทนี้พบมากและไม่สามารถหรือนำไปรีไซเคิลได้ยาก ถ้าไม่ส่งไปเป็นเชื้อเพลิงเผาถ่านหิน ก็สามารถส่งไปที่โยโลซึ่งจะส่งต่อให้บริษัท เบสท์ โพลิเมอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล นำไปผสมกับขี้เลื่อย/แกลบหรืออื่น ๆ เพื่อทำไม้เทียมในระดับอุตสาหกรรม


ประเภทขยะกำพร้าที่โยโลรับบริจาค

 

เมื่อมีการแยกประเภท ล้างสะอาดแล้ว สามารถส่งขยะกำพร้าไปได้ที่ "บริจาคขยะพลาสติกกำพร้า" บริษัท ซีโร่ เวสท์ โยโล จำกัด เลขที่ 432 ถ.พรานนก-พุทธมณฑล แขวงบางเชือกหนัง เขตตลิ่งชัน กทม. 10170 โทร. 061-5365514 (ขณะนี้งดรับขยะกำพร้าชั่วคราว)

แม้ว่าการที่จะมีถังขยะแยกประเภทพลาสติกแบบนี้ตั้งอยู่ในออฟฟิศของเราเป็นเรื่องยาก แต่ข้อมูลการแยกประเภทขยะของโยโลก็ทำให้ได้เห็นว่าพลาสติกที่อยู่ในมือเรากำลังบอกกับเราว่า ฉันเกิดใหม่ได้นะ จากสัญลักษณ์รีไซเคิลที่หลายคนอาจไม่เคยสังเกต คืนนี้ลองคว่ำขวดครีมบำรุงของสาว ๆ ดูที่ใต้สิว่ามีสัญลักษณ์หมายเลขไหน

โครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน”

โครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” ดำเนินการโดยเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศ (Thailand Responsible Business Network - TRBN) ร่วมมือกับองค์กรภาคเอกชนขนาดใหญ่ ได้แก่

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน)
เทสโก้ โลตัส
บริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป จํากัด
บริษัท แก้วกรุงไทย จำกัด
บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน)
บริษัท คิด คิด จำกัด บริษัท GEPP Sa-ard จำกัด
บริษัท แบรนดิ คอร์ปอเรชัน จํากัด
เพจเรื่องสิ่งแวดล้อมเรื่องของเรา

รับขยะพลาสติก 2 ประเภท คือ พลาสติกยืดและพลาสติกแข็งที่ผ่านการทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว ถ้าไม่ส่งพลาสติกยืดไปที่โครงการวน พลาสติกแข็งไปที่ N15 ก็จับรวมกันแล้วส่งไปที่จุดรับพลาสติกกลับบ้าน โดยปัจจุบันโครงการส่งพลาสติกกลับบ้านมีจุด Drop-off Point จำนวน 10 แห่งในกรุงเทพมหานคร เช่น Singha Complex ศูนย์การค้า The Emporium ร้านเทสโก้-โลตัส สาขาอ่อนนุช เป็นต้น

สำหรับโครงการนี้ เหมาะสำหรับออฟฟิศในเขตกรุงเทพมหานคร สำหรับออฟฟิศในต่างจังหวัดแนะนำให้ลองหาบ้านให้ขยะที่โครงการวน หรือ N15 จะสะดวกมากกว่า


วิธีการส่งพลาสติกออฟฟิศกลับบ้านในโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน”

ขยะสลิปเพื่อน้อง

ในทุกออฟฟิศน่าจะมีกระดาษใช้แล้วที่ยังเป็นแผ่นหรือผ่านการย่อยเป็นฝอยแล้ว หรือถ้าออฟฟิศของคุณมีสาวนักช็อปอยู่เป็นจำนวนมาก เชื่อว่าในถังขยะต้องมีใบเสร็จรับเงิน สลิปเอทีเอ็ม สลิปบัตรเครดิต หรือแม้แต่จดหมายทวงค่าบัตรเครดิตอยู่เป็นจำนวนมากแน่นอน แต่กระดาษที่ว่ามาเหล่านั้นจะเปียกเปื่อยรวมอยู่กับเศษขนม ก้อนน้ำแข็ง ถุงแกง กระดาษใช้แล้วที่ไม่เต็มแผ่นและสลิปที่ดูเหมือนจะไร้ค่า แท้จริงแล้วเราส่งไปเกิดใหม่เป็นสมุดได้ค่ะ

ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดลและโครงการ "สมุด Green way" โดย บมจ. ทางยกระดับดอนเมือง จัดทำโครงการนำใบเสร็จ สลิปรายการสินค้า และกระดาษใช้แล้วหน้าเดียวและสองหน้าทุกชนิด ไปรีไซเคิลเป็นสมุดให้เด็กที่ขาดแคลนทั่วประเทศ โดยเราสามารถส่งสลิปหรือกระดาษใช้แล้วไปที่แผนกสื่อสารองค์กร บมจ. ทางยกระดับดอนเมือง 40/40 ถ. วิภาวดีรังสิต เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ 10210 โทร. 02-792-6500 หรือบริจาคด้วยตัวเองได้ที่ห้องชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล ตรงข้ามองค์พระหน้าหอ 3 – 4


บริจาคขยะสลิปเพื่อไปใช้ประโยชน์ในโครงการสมุด Green Way

ออฟฟิศต่าง ๆ สามารถเลือกหาบ้านให้กับขยะกำพร้าที่เหมาะสมกับสไตล์ของออฟฟิศเราได้ ลองทดสอบดูสัก 3 เดือน ว่าการจัดการขยะแบบไหนสะดวกและเหมาะสมกับสำนักงานเรา พนักงาน และบริษัทเรามากที่สุด ไม่ว่าระดับความสำเร็จที่คุณตั้งใจจะสูงมากน้อยแค่ไหน แต่เพียงแค่ได้เริ่มก็ถือว่าเป็นประสบความสำเร็จในการเป็นก้าวแรกของการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในองค์กรของเราไปได้แล้ว




Source :
ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหิดล. (2020). Retrieved June 14, 2020, from Facebook ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหิดล Web site: https://web.facebook.com/ConservationMU
บจก. N15 เทคโนโลยี. (2020). Retrieved June 14, 2020, from Facebook N15 Technology Web site: https://www.facebook.com/n15technology
วลัญช์ สุภากร. (2020). Retrieved June 14, 2020, from กรุงเทพธุรกิจ Web site: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/881981
WindMill. (2019). รีไซเคิล! เรื่องที่คนไทยต้องเร่งสร้างพฤติกรรม ทีพีบีไอพัฒนาถุงพลาสติกนำกลับมาใช้ได้หลายครั้ง. Retrieved June 14, 2020, from Brandinside Web site: https://brandinside.asia/recycle-won/
YOLO - Zero Waste Your Life. (2020). Retrieved June 14, 2020, from Facebook YOLO - Zero Waste Your Life Web site: https://www.facebook.com/zerowasteyolo/